โพสต์โดย : เพลิน วิชัยวงศ์ วันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2567 , 19:36:51 (อ่าน 466 ครั้ง)
มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี โดย นางอมร วิชัยวงศ์ หัวหน้าสำนักงานพัฒนานักศึกษา นำบุคลากรและตัวแทนนักศึกษา เข้าร่วมการแสดงและแลกเปลี่ยนศิลปวัฒนธรรม ในงานศิลปวัฒนธรรมอุดมศึกษา ครั้งที่ 22 ภายใต้แนวคิด “ด๊ะดาด ศาสตร์ศิลป์ แผ่นดินสยาม” รับเกียรติจาก นางสาวศุภมาส อิศรภักดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เป็นประธานพิธีเปิด นับเป็นเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์การแสดงทางศิลปวัฒนธรรมในแต่ละสถาบัน และเป็นการส่งเสริมให้เยาวชนได้ตระหนักถึงคุณค่าแห่งภูมิปัญญาในศิลปะการแสดงของแต่ละท้องถิ่นอันเป็นเอกลักษณ์ที่สืบทอดต่อกันมาช้านาน ตลอดจนส่งเสริมและสืบสานศิลปวัฒนธรรมอันเต็มไปด้วยความหลากหลายตามภูมิภาคต่างๆ ทั่วประเทศ โดยมีสถาบันอุดมศึกษาทั่วประเทศเข้าร่วม 98 สถาบัน มีผู้เข้าร่วมงานมากกว่า 2,500 คน ณ มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา ศูนย์การค้าเซ็นทรัลโคราช และลานอนุสาวรีย์ท้าวสุรนารี ระหว่างวันที่ 23 - 25 กุมภาพันธ์ 2567ที่ผ่านมา
กิจกรรมงานศิลปวัฒนธรรมอุดมศึกษา ครั้งที่ 22 ภายใต้แนวคิด “ด๊ะดาด ศาสตร์ศิลป์ แผ่นดินสยาม” จัดให้มีฐานการเรียนรู้พิพิธภัณฑ์เมืองนครราชสีมา และเรือนโคราช การสาธิตการแสดงเพลงโคราช โดย สมาคมเพลงโคราช ฐานการเรียนรู้อู่อารยธรรมชาวโคราชในอุทยานธรณีโคราช (Khorat Geopark: อุทยานธรณีโลก) ณ พิพิธภัณฑ์ไม้กลายเป็นหินฯ ในส่วนของ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี นำชุดการแสดง “สดุดีอัญญาสตรีศรีวนาลัยประเทศราช” โดยนักศึกษาคณะศิลปศาสตร์ ร่วมแสดงในครั้งนี้
การแสดง : สดุดีอัญญาสตรีศรีวนาลัยประเทศราช เรื่องราวของ หม่อมเจียงคำ ชุมพล ณ อยุธยา นามเดิม อัญญานาง เจียงคำ บุตโรบล เป็นเจ้านาย ฝ่ายหญิงของเมืองอุบลฯ ที่ถวายตัวเป็นหม่อมใน พลตรีพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าชุมพลสมโภช กรม หลวงสรรพสิทธิประสงค์ พระราชโอรสองค์ที่ 11ในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว กับเจ้าจอมมารดา พึ่ง เพื่อเป็นการกระชับสัมพันธ์ไมตรีระหว่างราชสำนักสยาม กับเจ้านายพื้นถิ่นเมืองอุบลฯ ให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น ในช่วงที่มีนโยบายปฏิรูปการบริหารราชการแผ่นดิน สมัยรัชกาลที่ 5 ผู้สร้างสรรค์ได้หยิบยกเอาเรื่องราวของ หม่อมเจียงคำ (อัญญานางเจียงคำ บุตโรบล) ผู้ที่สร้าง คุณูปการให้กับมณฑลอุบลราชธานี ให้มีความรุ่งเรือง เป็นประมณฑลประเทศราช และเป็นผู้เชื่อมสัมพันธ์ ไมตรีสยามกับเมืองอุบลให้เป็นหนึ่งเดียว ทางคณะผู้สร้างสรรค์ได้ยกเอาการแต่งกายแบบอย่าง อัญญานาง เมืองอุบลราชธานี สวมใส่ในการแสงชุดนี้ ที่แสดงถึงความรุ่งเรือง ของมณฑลอุบลราชธานีศรีวนาลัยประเทศ ราช ผู้สร้างสรรค์จึงได้หยิบยกเอาเรื่องราวคุณูปการของอัญญานางเจียงค้า มาสร้างสรรค์การแสดงในชื่อชุด “สดุดีอัญญาสตรีศรีวนาลัยประเทศราช"
เพลิน วิชัยวงศ์ นักประชาสัมพันธ์ ม.อุบลฯ / ข่าว